Tuesday, October 14, 2014

เจ้าพ่อการตลาดกับการพัฒนาหลักสูตร


เจ้าพ่อการตลาดกับการพัฒนาหลักสูตร
               เจ้าพ่อการตลาด เป็นนวนิยายประพันธ์โดยไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ ที่กล่าวถึงเรื่องราวในชีวิตของผู้ชายคนหนึ่งชื่อ สมชาย เด็กที่โตมาจากต่างจังหวัด และย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพ สมชายได้มีโอกาสเรียนที่โรงเรียนฝรั่ง  ต่อจากนั้นเขาได้เป็นเซลล์แมน และด้วยโอกาสและโชค สมชายได้ร่วมงานกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ด้วยความสามารถของเขา สมชายได้ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ และได้แต่งงานกับลูกสาวท่านลอร์ด ชีวิตสมชายเปลื่ยนไปในพริบตา จนในที่สุดเขากลายเป็นนายกรัฐมนตรีประเทศปาซีเพีย ชีวิตที่โลดแล่นอยู่ในโลกของธุกิรกิจและการเมือง แสดงให้เห็นความชาญฉลาด การต่อรองทางกลยุทธิ์ต่างๆทางธุรกิจและการเมือง มรสุมลุมเร้าต่างๆมากมาย ชีวิตที่ผ่านทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จขั้นสูงสุด และสุดท้ายสมชายตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ในช่วงบั้นปลายชีวิต  จากนวนิยายเรื่องนี้ มีมุมมองอยู่ 2 ประเด็น ประเด็กแรกคือนักการตลาดมองหลักสูตร และประเด็นที่สองนักวางแผนและพัฒนาหลักสูตรมองนวนิยาย
               ประเด็นแรกถ้าพูดถึงนักการตลาดมองหลักสูตร การวางหลักสูตรหรือพัฒนาหลักสูตรมีเป้าหมายอะไร และจะนำพาประเทศไปในทางใด ก่อนอื่นจะควรวิเคราะห์โดยใช้ SWOT Analysis (Albert Humphrey. 1960-1970) เพื่อวิเคราะห์สภาพองค์กร เพื่อมองจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ข้อจำกัด หรือปัจจัยที่คุกคามการดำเนินงาน เศรษฐศาสตร์มหภาค การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ตัวบทกฎหมาย บริบททางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งอาจเป็นปัญหาสำคัญในการดำเนินงานสู่สภาพที่ต้องการในอนาคต อย่างเช่นในนวนิยาย สมชายได้มองทั้ง 4 ด้านทั้งในประเทศที่ตนเองปกครอง และประเทศต่างๆที่ทำธุรกิจหรือสมาคมด้วยเสมอ เพื่อประเมินสถานการณ์ รวมถึงผลดี และผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยใช้การวิเคราะห์ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก เปรียบเทียบกับการจัดทำหลักสูตรจะต้องหาสถานะของหน่วยงานหรือสถาบัน มองถึงกลยุทธ์ วัตถุประสงค์ ตัวชี้วัด เป้าหมาย โครงการและงบประมาณ เพื่อเป็นเส้นทางไปหาจุดมุ่งหมาย มองความเป็นไปได้ วิเคราะห์สภาพการณ์ทั้งภายใน และภายนอกหน่วยงานหรือสถาบัน ซึ่งจะช่วยให้นักพัฒนาหลักสูตรทราบถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่อาจมีผลต่อหลักสูตร ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการกำหนดวิสัยทัศน์ กำหนดกลยุทธ์และการดำเนินตามกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับการจัดทำหลักสูตร และสิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานของหน่วยงานหรือสถาบัน และการที่วิเคราะห์การวางแผนหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะต้องมองลึกถึงปัจจัยอีก 2 ตัว คือ POWER และ PESTLE เพื่อให้การวิเคราะห์นั้นสมบูรณ์ เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ข้อมูลในอดีต และข้อมูลใหม่ทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคโนโลยีของโลกปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต เพื่อประเมินโอกาสตลาดและวิเคราะห์ทางพลาดในการดำเนินนโยบาย” (เจ้าพ่อการตลาด: 229)
ปัจจัยตัวแรก: POWER  (Marketing Teacher.2014)
                  P (Personal Experience) คนที่จวางแผนหรือพัฒนาหลักสูตร จะต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ เป็นผู้รู้ และเป็นคนที่มีทักษะ
            O (Order) ในการที่จะวิเคราะห์หลักสูตร โดยใช้ SWOT เป็นตัววิเคราะห์จะต้องเรียงลำดับการวิเคราะห์ตามขั้นตอน คือเริ่มจาก จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค เนื่องจากในบางครั้ง โอกาส และอุปสรรค ยากที่จะกำหนด
                  W (Weight)   นั้นหมายถึงการใส่น้ำหนักในปัจจัยของการวิเคราะห์ เพื่อให้ทราบว่าอะไรที่เป็นสิ่งสำคัญมากกว่ากัน อะไรควรวางแผนเป็นอันดับแรก และรองลงมาตามลำดับ
           E (Emphasize detail) รายละเอียด หลักการและเหตุผลได้ถูกละเลยไปในการวิเคราะห์โดยใช้ SWOT ดังนั้นในการที่จะเขียนหลักสูตรควรที่จะระบุรายละเอียดในแต่ละลำดับขั้น
                  R (Rank and Prioritize) การเรียงลำดับ ความสำคัญก่อนหลัง โดยใช้ การใส่น้ำหนัก (weight) มาใช้ เพื่อให้เห็นช่วงคะแนนและความสำคัญ เพื่อที่จะประเมินได้ว่าหลักสูตรที่จะจัดทำมีแนวโน้มไปในทางใด อะไรควรวางแผนเป็นอันดับแรก และรองลงมาตามลำดับ
ปัจจัยตัวที่สอง: PESTLE (Francis J. Aguilar.1967)
P (Political) โดยพื้นฐานแล้วปัจจัยทางการเมืองจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ นโยบายภาษี กฎหมายแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำงานของรัฐบาลด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการเมืองยังมีส่วนเกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ดังตัวอย่างในหนังสือ ฯพณฯ ท่านสมชาย เมื่อดำรงตำแหน่งก็ต้องมองการพัฒนาไปในทุกๆด้าน ดังนั้นการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมองถึงปัจจัยทางการเมืองด้านการเมืองและการทหารในระดับภูมิภาคด้วยเพราะทั้ง 2 อย่างนี้แยกกับการเศรษฐกิจไม่ออกในภาวะการณ์ของโลกทุกวันนี้” (เจ้าพ่อการตลาด:126) “อุปสรรคอย่างร้ายแรงในการพัฒนาประเทศไทยก็คือบรรยากาศทางการเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเห็นแก่ตัวของนักการเมืองบางคนมากกว่าเห็นแก่ประเทศชาติ(เจ้าพ่อการตลาด: 225)
E (Economic) ปัจจัยทางเศษฐกิจ รวมถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย อัตรแลกเปลี่ยน ปัจจัยด้านนี้เป็นปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการตัดสินใจ ซึ่งจะมีผลไปถึงการเจิรญเติบโตและการขยายตัวทางธุรกิจ ในด้านการทำหลักสูตรก็ต้องมองถึงเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศเพื่อให้การวางแผนและพัฒนาหลักสูตรสอดคล้องกัน ผู้นำที่มองเห็นการณ์ไกลทางเศรษฐกิจของประเทศ คือกุญแจสู่ความก้าวหน้าของประเทศนั้น โดยไม่ยอมปล่อยให้ปัญหาความมั่นคงมาบดบังโอกาสนี้ไปเสีย” (เจ้าพ่อการตลาด:186)
S (Social) ปัจจัยด้านสังคมจะเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ความใส่ใจด้านสุขภาพ อัตราการเจริญเติบโตของประชากร โครงสร้างของอายุหรือการกระจายอายุ ทัศนคติด้านอาชีพ และด้านความปลอดภัย  ปัจจัยด้านนี้ก็เป็นส่วนสำคัญเพื่อนักวางแผนและพัฒนาหลักสูตรจะตัองคำนึงถึง เช่นว่า จะทำหลักสูตรให้เข้ากับวัย และสภาพสังคม และทัศนคติด้านอาชีพในสิ่งแวดล้อมนั้นๆ
T (Technological) วิทยาการเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา วิทยาการเทคโนโลยีจะมีผลต่อต้นทุน คุณภาพ และนำไปสู่นวัตกรรม
L (Legal) ในตัวกฎหมาย จะคลอบคุมในหลายด้าน เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายการแข่งขัน กฎหมายการจ้างงาน กฎหมายสุขภาพและความปลอดภัย ปัจจัยตัวนี้จะมีผลต่อการดำเนินงานต่อหน่วยงานหรือสถาบัน
E (Environment) ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ
ดังตัวอย่างในหนังสือ ฯพณฯ ท่านสมชาย มีการวิเคราะห์ข้อมูลในอดีต และข้อมูลใหม่ทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคโนโลยีปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต เพื่อประเมินโอกาสตลาดและวิเคราะห์ทางพลาดในการดำเนินนโยบายของกลุ่มอาเซี่ยน (เจ้าพ่อการตลาด: 229)

               ประด็นที่สองนักวางแผนและพัฒนาหลักสูตรมองนวนิยาย ในมุมมองนี้จะอ้างถึงการพัฒนาหลักสูตรของอาจารย์ รศ.ดร.วิชัย วงษ์ใหญ่ ที่กล่าวถึงการพัฒนาหลักสูตรแบบครบวงจร (Integrated Curriculum Development) ซึ่งประกอบด้วย 3 ระบบ ระบบแรกการร่างหลักสูตร มีองค์ประกอบมากมายดังนี้ สิ่งกำหนดหลักสูตร วิธีการ สังคมเศรษฐกิจ การเมือง รูปแบบหลักสูตร หลักการ โครงสร้าง องค์ประกอบหลักสูตร วัตถุประสงค์ เนื้อหา ประสบการณ์การเรียน การประเมินผล ตรวจสอบคุณภาพหลักสูตร ผู้เชี่ยวชาญ การสัมมนา ทดลองนำร่อง ปรับแก้ก่อนใช้ คณะกรรมการ ระบบที่สองการนำหลักสูตรไปใช้  คือ การอนุมัติหลักสูตรหน่วยงาน กระทรวง ทบวง วางแผนการใช้หลักสูตร ประชาสัมพันธ์หลักสูตร เตรียมความพร้อมของบุคลากร งบประมาณ วัสุดหลักสูตร อาคารสถานที่ ระบบบริหาร การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การติดตามแผลการใช้หลักสูตร และการบริหารหลักสูตร  การดำเนินการตามแผน กิจกรรมการเรียนการสอน การจัดตารางสอน แผนการสอน คู่มือการเรียน ความพร้อมของผู้สอน ความพร้อมของผู้เรียน และการประเมินผลการเรียน ระบบสุดท้าย ระบบที่สามการประเมินหลักสูตร จะมีการวางแผนการประเมิน ประเมินย่อย ประเมินรวบยอด ระบบหลักสูตร เอกสารหลักสูตร ระบบการบริหาร การสอนของผู้สอน ผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และ การรายงานข้อมูล

               อาจารย์ รศ.ดร.วิชัย วงษ์ใหญ่ สรุปไว้ว่าระบบทั้งสามระบบนี้จะสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน เพื่อให้เกิดภาพรวมที่เป็นเอกภาพของกระบวนการพัฒนาหลักสูตร เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกัน และมีความสำคัญเท่าเทียมกัน การพัฒนาหลักสูตรจะไปมุ่งเน้นที่ระบบใดระบบหนึ่งไม่ได้ ซึ่งจะเป็นผลทำให้หลักสูตรไม่มีประสิทธิภาพ จะไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นการวางแผนการพัฒนาหลักสูตร และการสอนควรจะได้กระทำให้ครบวงจรของกระบวนการพัฒนาหลักสูตรและการสอน
               จากการพัฒนาหลักสูตรของ รศ.ดร.วิชัย วงษ์ใหญ่ กับนวนิยาย เจ้าพ่อการตลาด เปรียบกับ สมชาย หรือ ฯพณฯท่านสมชาย ในการที่จะบริหารบริษัทหรือบริหารประเทศก็ต้องมีการบวนการและให้ความสำคัญเท่าเทียมกันในทุกด้าน หย่อนด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ ในบางช่วงของนิยาย ฯพณฯท่านสมชาย สนใจแต่การพัฒนาเศษฐกิจของประเทศจนลืมการพัฒนาด้านการเมือง หรือจากคำพูดในนวนิยาย ตั่งแต่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีประเทศปาซีเฟีย ฯพณฯ สมชายรู้สำนึกอยู่เต็มอกว่าถ้าจะนำประเทศที่กำลังพัฒนาขนาดค่อนข้างเล็กที่มีความเจริญรุ่งเรืองในทางการค้าโดยรวดเร็วแล้ว   ผู้นำจะต้องมีหัวคิดแบบเถ้าแก่ในบริษัทการตลาดกล่าวคือมีเป้าหมาย  นโยบาย และกลยุทธ์ที่แน่ชัดกับมีแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องเป็นเอกภาพและมีระบบการดำเนินการต่างๆ ที่เป็นตัวส่งเสริมไม่ใช่เป็นตัวอุปสรรคทางการค้า ไม่ว่าจะในหรือนอกประเทศ ประเทศต่างๆส่วนใหญ่ในอาเซี่ยนมีทรัพยากรเพื่อการตลาดคล้ายคลึงการอยู่อย่างมาก  ดังนั้นจึงมีปัญหาและโอกาสพอๆกัน ที่จะก้าวหน้า จะแตกต่างกันบ้างที่มีปัญหาภายในบางเรื่อง  เช่น เรื่องความมีเสถียรภาพทางการเมือง (เจ้าพ่อการตลาด: 129) “สามเดือนแรกในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐปาซิเฟีย ฯพณฯสมชายและคุณหญิงลินดา เร่งระดมสรรพกำลัง ทั้งนักวิชาการ ข้าราชการ ทหาร นักบริหาร และนักการตลาดทั้งผอง เท่าที่จะรวบรวมให้ทุกหมู่เหล่าในประเทศนี้ นำมาพัฒนาชาติเกิดใหม่อย่างแข็งขัน(เจ้าพ่อการตลาด: 108)

บรรณานุกรม
ไกรฤทธิ์ บุญยเกียรติ.เจ้าพ่อการตลาด.กรุงเทพมหานคร: สารมวลชล, 2532.
รศ.ดร.สุเทพ อ่วมเจริญ.การพัฒนาหลักสูตร ความรู้ สมรรถนะ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู.นครปฐม:โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2557.
Tim Friesner. SWOT Analysis-Power SWOT. Retrieved  May 8, 2014. Web site: http://www.marketingteacher.com/swot-analysis-power-swot/
SWOT Analysis. Retrieved  October 3, 2014. Web site: http://en.wikipedia.org/wiki/SWOT_analysis

Monday, October 13, 2014

บันทึกการเรียนรู้ 12 ตุลาคม 2557



บันทึกการเรียนรู้ประจำสัปดาห์
วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม 2557
เรื่อง       วิธีปฎิรูปการเรียนรู้ของไทยให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ

เรียน      ท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ มงคล และ รศ.ดร.สุเทพ อ่วมเจริญ  ที่เคารพ

               รองศาสตราจารย์ ดร.ชวนี ทองโรจน์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา(รักษาการแทน) กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาของไทย เป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนที่ควรดำเนินการแก้ไขเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาของไทย ซึ่งเป็นหัวใจในการผลิตและพัฒนาบุคคลากรของประเทศในการที่จะก้าวสู่เศรษฐกิจและสังคมในโลกศตวรรษที่ 21 ปัจจัยสำคัญในการปฏิรูปการศึกษามีอยู่ 6 ปัจจัย ดังนี้
               1. การปฏิรูปครู เพราะครูต้องจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ 2. การเพิ่ม การกระจายโอกาสและคุณภาพการศึกษาให้มีความเท่าเทียมทำให้คนทุกระดับเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม 3. ระบบบริหารจัดการโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4. การผลิตและพัฒนากำลังคนให้เป็นไปตามแผนกำลังคนของประเทศและสามารถแข่งขันได้ในสังคมโลก 5. การปฏิรูปการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอน ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดี เป็นไปตามศักยภาพของแต่ละบุคคล และสุดท้าย 6. ระบบการใช้ ICT (Information and Communication Technology) เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศมีความเจริญก้าวหน้าไปมาก การใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นส่วนช่วยในระบบการเรียนการสอน จะทำให้การจัดการศึกษามีคุณภาพดีขึ้น เนื่องจากในพื้นที่ต่างๆมีกำลังครูที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น การจัดห้องเรียนอัจฉริยะ สมาร์ทคลาสรูม
               ดร.จิรพรรณ ปุณเกษม รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่าการปฏิรูปการศึกษาไทยต้องมุ่งเน้นพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย และจิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้ในแนวการจัดการศึกษาต้องมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้ จากการเรียนเพื่อให้ได้ความรู้ เปลี่ยนเป็นการพัฒนากระบวนการแสวงหาความรู้และสร้างความรู้ใหม่เป็นปัญญาของบุคคลนั้น การพัฒนาการศึกษาไทยจึงเพื่อยกระดับคุณภาพของคนไทย
               จากข้อความที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ครูมีความสำคัญที่สุดในการเรียนการสอนและสิ่งที่ตามมาคือการบริหารการจัดการ ส่วนสุดท้ายคือระบบสารสนเทศที่เข้ามามีส่วนช่วยในการที่จะพัฒนาการเรียนการสอน อาจกล่าวได้ว่าการใช้สารสนเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือต้องมีครูที่มีความรู้เป็นผู้ที่คอยชี้แนะและสนับสนุน ในการปฏิรูปการศึกษาให้ได้ตามวัตถุประสงค์นั้นต้องเป็นการให้ความรู้ที่ยั่งยืน เป็นความรู้ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อให้เกิดปัญญา มีความรู้คู่คุณธรรม เพื่อให้เป็นมนุษย์ที่สมบรูณ์ได้ในที่สุด
              

                                                                                          ด้วยความเคารพยิ่ง
                                                            นางณัฐฐิรา ปุยะกุล ซวิค รหัสนักศึกษา 57254907
                                             นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน


















แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 30 กันยายน 2557

Wednesday, October 8, 2014

บันทึกการเรียนรู้ 5 ตุลาคม 2557



บันทึกการเรียนรู้ประจำสัปดาห์
วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม 2557

เรียน      ท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ มงคล และ รศ.ดร.สุเทพ อ่วมเจริญ  ที่เคารพ
               จากที่ได้ฟังบทสรุปของหนังสือ The Curriculum Theory and Practice เมื่อสัปดาห์ก่อน และจับประเด็นที่น่าสนใจได้ว่า ปัจจัยหลักในการที่จะจัดทำหลักสูตรเกิดขึ้นจาก 3 ศาสตร์ คือ จิตวิทยา ปรัชญา และ สังคมวิทยา จึงได้ศึกษาค้นคว้าเพื่อให้ได้องค์ความรู้มากขึ้น ซึ่งบันทึกในครั้งนี้จะกล่าวถึงศาสตร์แรกคือ จิตวิทยา ความรู้ทางจิตวิทยามีบทบาทต่อการกำหนดเป้าหมายทางการศึกษา การจัดทำหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
               จิตวิทยาคือ วิทยาศาสตร์ที่ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ การที่กล่าวว่า จิตวิทยาคือวิทยาศาสตร์เพราะกระบวนการในการศึกษาหาความรู้ทางจิตวิทยานั้น เป็นกระบวนการศึกษาค้นคว้า ทดลองด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ เริ่มตั้งแต่ตั้งปัญหาหรือสมมติฐาน รวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการต่างๆ วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ และสรุปผล ส่วนพฤติกรรมของมนุษย์  คือ การกระทำหรือการแสดงออกทุกอย่างของมนุษย์ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือพฤติกรรมภายนอก และพฤติกรรมภายใน พฤติกรรมภายนอก ได้แก่การกระทำหรือการแสดงออกของบุคคลที่ผู้อื่นสามารถสังเกตหรือสัมผัสได้ด้วยประสาททั้ง 5 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) หรือสามารถวัดได้ด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น การร้องไห้ การเดิน การผายลม หน้าซีด ตัวร้อน เป็นต้น ส่วนพฤติกรรมภายใน เช่น ความรู้สึก การเห็น การรับรู้ การคิด การจำและการตัดสินใจ ไม่สามารถสังเกตหรือใช้เครื่องมือใดๆ ช่วยในการสังเกตได้ นอกจากจะสันนิษฐานเอาจากพฤติกรรมภายนอกที่แสดงออกมาให้เห็นเท่านั้น และการสันนิษฐานนี้อาจถูกหรือผิดไปจากพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงของผู้แสดงพฤติกรรมก็ได้  อย่างไรก็ตามนักจิตวิทยากล่าวว่าพฤติกรรมภายนอกมักมีพฤติกรรมภายในเป็นตัวกำหนด
               จิตวิทยามีส่วนเกี่ยวข้อกับการกำหนดเป้าหมายทางการศึกษาอย่างยิ่ง  เพราะความรู้ทางจิตวิทยาที่สำคัญคือ ความรู้ที่ว่า บุคคลมีความแตกต่างกันทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ซึ่งหมายถึง การที่จะให้บุคคลทุกคนมีสภาพร่างกาย สภาพอารมณ์ สภาพการปรับตัวให้เข้ากับสังคมและสภาพของความคิดหรือสติปัญญาทัดเทียมกันทุกคนนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะทุกคนมีขีดจำกัดของความเจริญงอกงามในแต่ละด้านเฉพาะตัว ฉะนั้น การจะกำหนดเป้าหมายของการศึกษาว่าต้องการให้ ทุกคนมีความเจริญงอกงามด้านต่างๆ ไปสู่จุดหมายใดจุดหมายเดียวนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เป้าหมายทางการศึกษาที่เป็นไปได้ คือการกำหนดเพื่อมุ่งพัฒนาให้มีความเจริญงอกงามในทุกๆด้านถึงขีดสูงสุดตามควรแก่อัตภาพ ดังนั้นเป้าหมายที่มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีความเจริญงอกงามตามอัตภาพเป็นเป้าหมายที่กำหนดให้เตรียมแผนการจัดการศึกษาระดับและสาขาต่างๆ เพื่อให้สนองกับความสามารถเฉพาะบุคคล โดยนำเอาความรู้ทางจิตวิทยาด้านอื่นๆมาเป็นข้อมูลพื้นฐาน
               ในการกำหนดแนวทางของการศึกษาหรือการจัดทำหลักสูตร สาระสำคัญที่มีอยู่ในหลักสูตรคือ จุดมุ่งหมายหลักสูตร เนื้อหาวิชาต่างๆ การจัดประสบการณ์หรือกิจกรรม ให้แก่ผู้เรียนและ วิธีการประเมินผลการเรียน การกำหนดสาระสำคัญเหล่านี้ผู้กำหนดหรือผู้จัดทำหลักสูตรจำเป็นต้องคำนึงถึง วัย ความสามารถ ความรู้พื้นฐาน และพัฒนาการด้านต่างๆของผู้เรียนในแต่ละระดับเพื่อจะได้ตั้งจุดมุ่งหมาย บรรจุเนื้อหา จัดมวลประสบการณ์หรือกิจกรรมและหาวิธีการประเมินผลให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละวัยได้ ซึ่งความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆล้วนเป็นความรู้ทางจิตวิทยาทั้งสิ้น ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าความรู้ทางจิตวิทยานั้น เข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งต่อการจัดทำหลักสูตรทุกหลักสูตรในทุกระดับชั้น
               จิตวิทยากับการเรียนการสอน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับบุคคลที่อยู่ในการบวนการเรียนการสอนคือ ผู้เรียนและผู้สอน กรเรียนการสอนจะดำเนินไปได้โดยราบรื่นก็เมื่อผู้สอนสามารถให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้หรือมีการเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามจุดมุ่งหมายที่ผู้สอนกำหนดไว้ การจะเปลี่ยนแปลงพฤติหกรรมของนักเรียนให้เป็นตามที่ผู้สอนต้องการนั้น ผู้สอนจำเป็นจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน ปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ เช่นความต้องการของผู้เรียน ทัศนคติของผู้เรียน สภาพเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมรอบตัวและอื่นๆ ตลอดจนจะต้องรู้ด้วยว่าทัศนคติ การปฎิบัติตน และบุคคลิกภาพและอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับผู้สอนมีผลหรือมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างไร ความรู้เหล่านี้ชี้แนะให้ผู้สอนสามารถจัดสภาพการเรียนการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้ได้ และยังช่วยให้ผู้สอนได้เข้าใจสภาพของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเรียนการสอนด้วย
               ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ความรู้ทางจิตวิทยานั้น ช่วยให้เกิดความเข้าใจถึงสาเหตุแห่งการแสดงพฤติกรรม ช่วยพยากรณ์และควบคุมพฤติกรรมต่างๆได้ จิตวิทยาจึงมีบทบาทต่อการกำหนดเป้าหมายทางการศึกษาและการจัดทำหลักสูตรและยังมีบทบาทต่อการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่ง

                                                                                          ด้วยความเคารพยิ่ง
                                                            นางณัฐฐิรา ปุยะกุล ซวิค รหัสนักศึกษา 57254907
                                             นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน

บรรณานุกรม : ศาสตรจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน และคณะ  เอกสารการสอนชุดวิชาพิ้นฐานการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธีราช สาขาวิชาศึกษาศาสตร์. กุรงเทพฯ: สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2545.