Wednesday, October 8, 2014

บันทึกการเรียนรู้ 5 ตุลาคม 2557



บันทึกการเรียนรู้ประจำสัปดาห์
วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม 2557

เรียน      ท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ มงคล และ รศ.ดร.สุเทพ อ่วมเจริญ  ที่เคารพ
               จากที่ได้ฟังบทสรุปของหนังสือ The Curriculum Theory and Practice เมื่อสัปดาห์ก่อน และจับประเด็นที่น่าสนใจได้ว่า ปัจจัยหลักในการที่จะจัดทำหลักสูตรเกิดขึ้นจาก 3 ศาสตร์ คือ จิตวิทยา ปรัชญา และ สังคมวิทยา จึงได้ศึกษาค้นคว้าเพื่อให้ได้องค์ความรู้มากขึ้น ซึ่งบันทึกในครั้งนี้จะกล่าวถึงศาสตร์แรกคือ จิตวิทยา ความรู้ทางจิตวิทยามีบทบาทต่อการกำหนดเป้าหมายทางการศึกษา การจัดทำหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
               จิตวิทยาคือ วิทยาศาสตร์ที่ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ การที่กล่าวว่า จิตวิทยาคือวิทยาศาสตร์เพราะกระบวนการในการศึกษาหาความรู้ทางจิตวิทยานั้น เป็นกระบวนการศึกษาค้นคว้า ทดลองด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ เริ่มตั้งแต่ตั้งปัญหาหรือสมมติฐาน รวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการต่างๆ วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ และสรุปผล ส่วนพฤติกรรมของมนุษย์  คือ การกระทำหรือการแสดงออกทุกอย่างของมนุษย์ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือพฤติกรรมภายนอก และพฤติกรรมภายใน พฤติกรรมภายนอก ได้แก่การกระทำหรือการแสดงออกของบุคคลที่ผู้อื่นสามารถสังเกตหรือสัมผัสได้ด้วยประสาททั้ง 5 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) หรือสามารถวัดได้ด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น การร้องไห้ การเดิน การผายลม หน้าซีด ตัวร้อน เป็นต้น ส่วนพฤติกรรมภายใน เช่น ความรู้สึก การเห็น การรับรู้ การคิด การจำและการตัดสินใจ ไม่สามารถสังเกตหรือใช้เครื่องมือใดๆ ช่วยในการสังเกตได้ นอกจากจะสันนิษฐานเอาจากพฤติกรรมภายนอกที่แสดงออกมาให้เห็นเท่านั้น และการสันนิษฐานนี้อาจถูกหรือผิดไปจากพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงของผู้แสดงพฤติกรรมก็ได้  อย่างไรก็ตามนักจิตวิทยากล่าวว่าพฤติกรรมภายนอกมักมีพฤติกรรมภายในเป็นตัวกำหนด
               จิตวิทยามีส่วนเกี่ยวข้อกับการกำหนดเป้าหมายทางการศึกษาอย่างยิ่ง  เพราะความรู้ทางจิตวิทยาที่สำคัญคือ ความรู้ที่ว่า บุคคลมีความแตกต่างกันทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ซึ่งหมายถึง การที่จะให้บุคคลทุกคนมีสภาพร่างกาย สภาพอารมณ์ สภาพการปรับตัวให้เข้ากับสังคมและสภาพของความคิดหรือสติปัญญาทัดเทียมกันทุกคนนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะทุกคนมีขีดจำกัดของความเจริญงอกงามในแต่ละด้านเฉพาะตัว ฉะนั้น การจะกำหนดเป้าหมายของการศึกษาว่าต้องการให้ ทุกคนมีความเจริญงอกงามด้านต่างๆ ไปสู่จุดหมายใดจุดหมายเดียวนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เป้าหมายทางการศึกษาที่เป็นไปได้ คือการกำหนดเพื่อมุ่งพัฒนาให้มีความเจริญงอกงามในทุกๆด้านถึงขีดสูงสุดตามควรแก่อัตภาพ ดังนั้นเป้าหมายที่มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีความเจริญงอกงามตามอัตภาพเป็นเป้าหมายที่กำหนดให้เตรียมแผนการจัดการศึกษาระดับและสาขาต่างๆ เพื่อให้สนองกับความสามารถเฉพาะบุคคล โดยนำเอาความรู้ทางจิตวิทยาด้านอื่นๆมาเป็นข้อมูลพื้นฐาน
               ในการกำหนดแนวทางของการศึกษาหรือการจัดทำหลักสูตร สาระสำคัญที่มีอยู่ในหลักสูตรคือ จุดมุ่งหมายหลักสูตร เนื้อหาวิชาต่างๆ การจัดประสบการณ์หรือกิจกรรม ให้แก่ผู้เรียนและ วิธีการประเมินผลการเรียน การกำหนดสาระสำคัญเหล่านี้ผู้กำหนดหรือผู้จัดทำหลักสูตรจำเป็นต้องคำนึงถึง วัย ความสามารถ ความรู้พื้นฐาน และพัฒนาการด้านต่างๆของผู้เรียนในแต่ละระดับเพื่อจะได้ตั้งจุดมุ่งหมาย บรรจุเนื้อหา จัดมวลประสบการณ์หรือกิจกรรมและหาวิธีการประเมินผลให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละวัยได้ ซึ่งความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆล้วนเป็นความรู้ทางจิตวิทยาทั้งสิ้น ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าความรู้ทางจิตวิทยานั้น เข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งต่อการจัดทำหลักสูตรทุกหลักสูตรในทุกระดับชั้น
               จิตวิทยากับการเรียนการสอน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับบุคคลที่อยู่ในการบวนการเรียนการสอนคือ ผู้เรียนและผู้สอน กรเรียนการสอนจะดำเนินไปได้โดยราบรื่นก็เมื่อผู้สอนสามารถให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้หรือมีการเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามจุดมุ่งหมายที่ผู้สอนกำหนดไว้ การจะเปลี่ยนแปลงพฤติหกรรมของนักเรียนให้เป็นตามที่ผู้สอนต้องการนั้น ผู้สอนจำเป็นจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน ปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ เช่นความต้องการของผู้เรียน ทัศนคติของผู้เรียน สภาพเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมรอบตัวและอื่นๆ ตลอดจนจะต้องรู้ด้วยว่าทัศนคติ การปฎิบัติตน และบุคคลิกภาพและอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับผู้สอนมีผลหรือมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างไร ความรู้เหล่านี้ชี้แนะให้ผู้สอนสามารถจัดสภาพการเรียนการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้ได้ และยังช่วยให้ผู้สอนได้เข้าใจสภาพของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเรียนการสอนด้วย
               ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ความรู้ทางจิตวิทยานั้น ช่วยให้เกิดความเข้าใจถึงสาเหตุแห่งการแสดงพฤติกรรม ช่วยพยากรณ์และควบคุมพฤติกรรมต่างๆได้ จิตวิทยาจึงมีบทบาทต่อการกำหนดเป้าหมายทางการศึกษาและการจัดทำหลักสูตรและยังมีบทบาทต่อการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่ง

                                                                                          ด้วยความเคารพยิ่ง
                                                            นางณัฐฐิรา ปุยะกุล ซวิค รหัสนักศึกษา 57254907
                                             นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน

บรรณานุกรม : ศาสตรจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน และคณะ  เอกสารการสอนชุดวิชาพิ้นฐานการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธีราช สาขาวิชาศึกษาศาสตร์. กุรงเทพฯ: สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2545.

No comments:

Post a Comment