Wednesday, October 8, 2014

บันทึกการเรียนรู้ 7 กันยายน 2557



บันทึกการเรียนรู้ประจำสัปดาห์
วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน 2557

เรียน     ท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ มงคล และ รศ.ดร.สุเทพ อ่วมเจริญ  ที่เคารพ

          มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม ได้จัดโครงการประชุมเชิงวิชาการ การจัดทำหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ของมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคตะวันตก และมีการบรรยายพิเศษ ในเรื่อง “การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” รวมถึงมีการร่วมวิพากษ์หลักสูครและคำอธิบายรายวิชาเพื่อที่จะนำมาใช้ในปี 2558 ในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคตะวันตก  บรรยากาศช่วงเช้าคึกคักเป็นพิเศษเนื่องจากมีข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย ในพนักงานสายวิชาการ จากหลายมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย จากการประชุมข้าพเจ้าสรุปได้ดังนี้
องค์ประกอบด้านวิชาการ เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องเอาใจใส่ให้มาก เพราะผู้เรียนเข้ามาเรียนเพราะอยากมีความรู้และนำไปประกอบวิชาชีพ ดังนั้นโครงสร้างของหลักสูตรตลอดจนการจัดการเรียนการสอนจะต้องมีระบบที่ดี และมีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ จึงจะทำให้มีคุณภาพที่เป็นมาตรฐาน ทำให้บรรลุเป้าหมายของการจัดการศึกษา หลักสูตรเป็นเครื่องมือที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของสถาบันอุดมศึกษาที่จะนำมาพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้ด้านต่างๆ อย่างเพียงพอที่จะเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ ดังนั้นหลักสูตรจึงต้องได้รับการเอาใจใส่อย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้การดูแลเรื่องหลักสูตรเป็นไปโดยไม่พิถีพิถัน หรือปล่อยไปโดยงายดายโดยไม่ถูกกลั่นกรอง หลักสูตรในระดับสากลเชื่อว่า โครงสร้างของหลักสูตรจะต้องมี 3 หมวดคือ ศึกษาทั่วไป วิชาเอก และวิชาเลือก ซึ่งแต่ละหมวดมีเป้าหมายที่แตกต่างกันไป เช่น หมวดวิชาเอก มุ่งเน้นเรื่องวิชาเกี่ยวกับอาชีพ หมวดวิชาเลือกมุ่งเน้นเรื่องวิชาพัฒนาความสามารถส่วนตัว ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาจะต้องเข้าใจความสำคัญของแต่ละหมวด และบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ

องค์ประกอบด้านกิจกรรม สถาบันอุดมศึกษาจะต้องเข้าใจเรื่องชีวิตภายใต้การเรียนในสถาบันอุดมศึกษาอย่างถูกต้อง โดยให้ความสำคัญทั้งด้านวิชาการและที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือกิจกรรม การที่จะพัฒนาคุณลักษณะของนักศึกษาในด้านต่างๆเพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาออกไปเป็นบัณฑิตที่มีลักษณะที่พึงประสงค์ของสังคมนั้น กิจกรรมก็เป็นหัวใจของการพัฒนานักศึกษาเช่นเดียวกัน
องค์ประกอบด้านวิชาการมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการพัฒนานักศึกษา คือ การเปิดสอนรายวิชาในหมวดศึกษาทั่วไป ซึ่งในระดับสากลโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนานักศึกษาโดยอาศัยรายวิชาในหมวดศึกษาทั่วไปเป็นพื้นฐาน ดังนั้นจึงมีการศึกษา วิจัย รวมทั้งการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนในหมวดนี้อยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษาในหมวดศึกษาทั่วไปนั้น ก็มักจะคำนึงถึงลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์เป็นหลัก ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก จะแตกต่างกันบ้างก็ไม่มากนัก และที่สำคัญที่ควรจะพิจารณาเป็นอย่างยิ่งคือ แนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรหมวดศึกษาทั่วไป เพราะจะทำให้มีผลต่อการจัดการเรียนการสอน และมีผลต่อผู้เรียนโดยส่วนรวม
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องพิจารณาแนวทางของหลักสุตรในหมวดศึกษาทั่วไปว่า ควรจะพัฒนาหลักสูตรและรายวิชาอย่างไร จึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด คือ ควรพัฒนารายวิชาโดยยึดองค์ความรู้เป็นหลัก อีกประเด็นหนึ่งคือ การจัดการเรียนการสอน เช่น จำนวนผู้เรียน คุณสมบัติของอาจารย์ผู้สอน สรุปเป็นกลางๆ ได้ว่า บางรายวิชาควรยึดความรู้จากศาสตร์เพื่อเป็นพื้นฐานที่สำคัญ แต่บางรายวิชาก็สามารถที่จะพัฒนาแบบบูรณาการองค์ความรู้ เพื่อเน้นไปที่การประยุกต์ใช้กับชีวิตได้อย่างเหมาะสม ทั้ง 2 ประเด็น จะสะท้อนถึงความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ดังนี้นจึงต้องดำเนินการด้วยความพิถิพิถันให้มาก
                                                                        ด้วยความเคารพยิ่ง
                                                นางณัฐฐิรา ปุยะกุล ซวิค รหัสนักศึกษา 57254907
                                    นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน

No comments:

Post a Comment