Wednesday, October 8, 2014

บันทึกการเรียนรู้ 28 กันยายน 2557



บันทึกการเรียนรู้ประจำสัปดาห์
วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน 2557

เรียน      ท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ มงคล และ รศ.ดร.สุเทพ อ่วมเจริญ  ที่เคารพ
               ต่อจากบันทึกตอนที่แล้วที่กล่าวถึง ความคิดทางการศึกษาและทัศนะเกี่ยวกับการเรียนการสอนของ ศาสตรจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ มีคำพูดประโยคหนึ่งที่ท่านกล่าวไว้ว่า การเรียนรู้หรื่อสั่งสมประสบการณ์ของท่านเริ่มด้วยการเกิดความสำนึกทางประวัติศาสตร์ สำนึกทางประวัติศาสตร์หมายถึง ความเข้าใจในเรื่องผลงานของมนุษย์ พฤติกรรมความคิดและความรู้สึกของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะอะไรแล้วมีผลอย่างไรจนผู้เรียนได้บทเรียนทางความคิดในที่สุด ข้าพเจ้าก็เกิดคำถามกับว่าตัวเองเข้าใจความหมายคำว่า หลักสูตรมากน้อยแค่ไหน และมีที่มาที่ไปอย่างไร จึงเกิดความสงสัยและอยากรู้ จึงได้เริ่มค้นหาในอินเทอร์เน็ต สรุปแล้วข้าพเจ้าได้ข้อมูลที่เป็นความรู้ที่ดีจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี กล่าวไว้ว่า
               คำว่าหลักสูตร หรือ curriculum (เอกพจน์)  curricula  (พหูพจน์)  เริ่มมีพัฒนาการเป็นครั้งแรกตั้งแต่สมัยโบราณ หลักฐานปรากฎว่ามีการจัดทำหลักสูตรมากว่า 2,500 ปีมาแล้ว แต่ก็กล่าวกันว่าคงมีการจัดทำหลักสูตรมาก่อนหน้านี้ แต่ไม่มีหลักฐานให้เห็น หลักสูตรในสมัยนั้นจะเน้นการดำรงชีวิตในสังคม การท่องจำคัมภีร์ ยุทธวิธี พลศึกษา ศิลปะและศีลธรรม ภาษา ตรรกวิทยา และวรรณคดี และต่อมาสมัยยุคกลางหลักสูตรเริ่มมีเนื้อหาและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างออกไปจากเดิม เพราะยุคกรีกและโรมันแบบเดิมค่อยๆ เสื่อมลง หลังจากนั้นหลักสูตรก็ได้พัฒนาขึ้นอีกครั้งโดยศาสนาจักรในหลักสูตรประกอบไปด้วยวิชา ศาสนวิทยา จนกระทั้งหลักสูตรได้กลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่เริ่มใช้อย่างแพร่หลายในคริสต์วรรษที่ 20 จอห์น แฟรงคลิน บอบบิท ได้กล่าวเกี่ยวกับหลักสูตรไว้ในตำราเรียนที่เขาได้เขียนไว้ และเป็นตำราเรียนเล่มแรกของหลักสูตร ต่อมาก็มีนักศึกษาอีกหลายคนได้ให้ความหมายของหลักสูตร จึงพอสรุปความหมายของคำว่าหลักสูตรได้ว่า หลักสูตร หมายถึง ประสบการณ์ต่างๆ ทั้งภายนอกและภายในสถานศึกษา เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองจนสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ได้ หลักสูตรมีทั้งหมด 6 รูปแบบ ได้แก่  หลักสูตรเน้นสาขาวิชา หลักสูตรแกน หลักสูตรประสบการณ์ หลักสูตรกระบวนการ หลักสูตรเกณฑ์ความสามารถและหลักสูตรบูรณาการ รูปแบบหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากที่สุดคือรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของราล์ฟ ไทเลอร์ ที่คำนึงถึงจุดมุ่งหมายการศึกษา ประสบการณ์ทางการศึกษาที่จะจัดให้ รวมไปถึงการประเมินผลการจัดประสบการณ์ จากหลักสูตรที่กล่าวมาจะมีการพัฒนาหลักสูตรอยู่ 2 นัยยะคือ การสร้างหลักสูตรขึ้นมาใหม่และการพัฒนาหลักสูตรเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น โดยมีการพัฒนาหลักสูตรนั้นมีอยู่หลายระดับตั่งแต่ระดับชาติจนถึงระดับท้องถิ่น ในการที่นำหลักสูตรไปใช้ก็จะต้องมีการประเมินผลว่าเหมาะสมมีอุปสรรคหรือไม่ หลักสูตรส่วนไหนควรยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไข ซึ่งการประเมินหลักสูตรต้องประเมินทั้งตัวหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนและระบบหลักสูตร โดยรูปแบบการประเมินหลักสูตรที่สำคัญและได้รับการยอมรับกว้างขวางอาทิเช่น การใช้เทคนิกวิเคราะห์แบบปุยแซงค์ รูปแบบการประเมินหลักสูตรของไทเลอร์ แฮมมอนด์ สเตค โพรวัส สคริฟเวน และสตัฟเฟิลบีม
               จากที่กล่าวมาทั้งหมดพอจะสรุปได้ว่า หลักสูตรเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาลและได้มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆจากอิทธิพลและแนวความคิดต่างๆ โดยแนวคิดใดได้รับความนิยมเชื่อถือในยุคนั้นก็จะมีอิทธิพลสูงมากต่อการพัฒนาหลักสูตร โดยพื้นฐานสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาหลักสูตรนั้นได้แก่ ปรัชญา จิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาการเรียนรู้ สภาพสังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และประวัติศาสตร์ การที่จะวัดผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตรนั้นก็ต้องมีการประเมินอยู่เป็นระยะ


                                                                                          ด้วยความเคารพยิ่ง
                                                            นางณัฐฐิรา ปุยะกุล ซวิค รหัสนักศึกษา 57254907
                                             นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน









แหล่งที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/หลักสูตร

No comments:

Post a Comment