Wednesday, October 8, 2014

บันทึกการเรียนรู้ 14 กันยายน 2557



บันทึกการเรียนรู้ประจำสัปดาห์
วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน 2557

เรียน      ท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ มงคล และ รศ.ดร.สุเทพ อ่วมเจริญ  ที่เคารพ

                สัปดาห์ที่ผ่านมาข้าพเจ้าได้พยายามค้นหาสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานจากทางอินเทอร์เน็ตตามคำแนะนำของ รศ.ดร.วิชัย วงใหญ่ และได้ไปเจองานวิจัยของ ทิศนา แขมมณีและคณะ ในหัวข้อ แนวทางการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ : ข้อค้นพบจากการศึกษาพหุกรณี โดยคณะผู้วิจัยได้ดำเนินการศึกษาโรงเรียนเป็นพหุกรณีจำนวน 11 โรง ประกอบด้วยโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่ได้มีการดำเนินการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และได้รับความสำเร็จแล้วในระดับหนึ่งจำนวน 4 โรง และโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่ยังไม่มีการพัฒนาหรือมีความพยายามในการพัฒนาบ้างแล้ว แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จอีก 4 โรง  โดยพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่มีลักษณะ สภาพและปัจจัยแตกต่างกัน รวมทั้งครอบคลุมการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกระดับ ทุกสังกัดและกระจายตามลักษณะของชุมชนและภูมิภาคต่างๆของประเทศ ผลที่ได้รับจากการวิจัย สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนหรือสถานศึกษาได้ดังที่ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไป
แนวทางในการดำเนินการพัฒนาหรือปฏิรูปการเรียนรู้แบ่งได้เป็น 2 หัวข้อใหญ่ๆ คือ การจัดและพัฒนาปัจจัยต่างๆ ให้เอื้อต่อการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียน และ การดำเนินการป้องกันหรือแก้ใขปัญหาต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการปฎิรูปกระบวนการเรียนรู้ เมื่อกล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญๆที่เป็นแรงผลักดันช่วยในการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียนให้ประสบความสำเร็จมี 6 ด้าน  สิ่งแรกคือ องค์ประกอบด้านผู้บริหาร ผลการวิจัยพบว่า ผู้บริหารมีอิทธิพลสูงมากต่อความสำเร็จในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ผู้บริหารต้องเป็นผู้ที่เห็นความสำคัญของงานวิชาการ และเน้นพัฒนาวิชาการของโรงเรียนอย่างจริงจังและตั้งใจ มีความกล้าในการตัดสินใจ กล้าต่อการเสื่ยงเพื่อผลักดันในการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความเป็นประชาธิปไตยและเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงาน เป็นองค์ประกอบที่เกื้อหนุนให้ผู้บริหารทำงานไปได้ด้วยดี สองคือ องค์ประกอบด้านยุทธวิธีในการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ได้แก่ การส่งเสริมการเรียนรู้ของครูอย่างจริงจัง หลากหลาย เพียงพอและต่อเนื่อง การส่งเสริมให้ครูมีส่วนร่วมในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ส่งเสริมการนิเทศภายในแบบกัลยาณมิตร สามคือ องค์ประกอบด้านการบริหารจัดการ ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า การบริหารจัดากรทรัพยากรด้านต่างๆ ให้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนให้การปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นและเป็นไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น ลำดับต่อมาคือ องค์ประกอบด้านครู : คุณสมบัติของครู การพัฒนาตนเอง การเตรียมการสอน และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ครูนับเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดและส่งผลตรงต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนมากที่สุด ครูที่สอนดีล้วนเป็นครูที่มีการเตรียม การสอนที่ดีมาก่อนการสอน การเตรียมการสอนที่ดีเป็นองค์ประกอบสำคัญมากต่อการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ดังนั้นควรช่วยและอำนวยความสำดวกให้ครูสามารถเตรียมการสอนที่มีคุณภาพ ในด้านกิจกรรมการเรียนรู้ก็เป็นตัวส่งผลต่อคุณภาพของการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ด้านที่ห้าคือ องค์ประกอบด้านนักเรียน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาการเรียนรู้ ปัจจัยสำคัญมากประการแรกก็คือ ความเป็นกัลยาณมิตรของครู นักเรียนที่เรียนดีหรือด้อยพูดตรงกันว่า เขาชอบเรียนกับครูที่ใจดี เข้าใจเด็ก ไม่ดุด่า ไม่ลงโทษ อีกปัจจัยหนึ่งคือ นักเรีนต้องการครูที่สอนสนุก ไม่เครียด แต่มีสาระ มีกิจกรรมที่ได้ทดลอง ลงมือทำ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน โรงเรียนจึงควรมีการวิเคราะห์หลักสูตร ศึกษาความสนใจและความต้องการของนักเรียนและพิจารณานำเรื่องที่นักเรียนสนใจอยากเรียนรู้เข้าไปในหลักสูตร องค์ประกอบด้านสุดท้ายคือ องค์ประกอบด้านผู้ปกครองและชุมชน โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จสามารถดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้ โดยการสร้างความเข้าใจให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา เข้าใจจุดมุ่งหมายการดำเนินงานและการทำกิจกรรมต่างๆของโรงเรียน
จากที่ข้าพเจ้าได้อ่านเนื้อความงานวิจัยของทิศนา แขมมณีและคณะ ข้าพเจ้าให้ความคิดเห็นว่า การที่จะพัฒนาปรับปรุงหรือการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จจะต้องอาศัยในทุกๆปัจจัยรวมกัน ขาดสิ่งหนึ่ง สิ่งใดเสียมิได้ ดังนั้นโรงเรียนหรือสถานศึกษาความมีความรู้ความเข้าใจและแนวทางในการดำเนินงานอย่างถูกทิศทาง ทั้งด้านผู้บริหาร ด้านโรงเรียน ด้านผู้เรียน และด้านผู้ปกครองและชุมชน
                                                                                          ด้วยความเคารพยิ่ง
                                                            นางณัฐฐิรา ปุยะกุล ซวิค รหัสนักศึกษา 57254907
                                             นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน

No comments:

Post a Comment