Wednesday, October 8, 2014

บันทึกการเรียนรู้ 31 สิงหาคม 2557



บันทึกการเรียนรู้ประจำสัปดาห์
วันอาทิตย์ที่ 31 สิหาคม 2557

เรียน     ท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ มงคล และ รศ.ดร.สุเทพ อ่วมเจริญ  ที่เคารพ

          ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการบรรยายพิเศษ โดย รองศาสคราจารย์ ดร. คมเพชร ฉัตรศุภกุล ท่านดำรงตำแหน่งรองอธิการฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และอุปนายก สภามหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม เรื่อง “การศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์”
การจัดการศึกษาให้ประสบความสำเร็จ ท่านกล่าวว่า ต้องเข้าใจความหมายหรือปรัชญาของการศึกษาเพราะจะสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับแก่นแท้ของการศึกษาและผู้ที่รับผิดชอบเรี่องการจัดการศึกษาทุกระดับต้องมีความรู้เกี่ยวกับการศึกษาอย่างแท้จริง มีเพียงประสบการณ์และสามัญสำนึกทั่วไปเท่านั้นไม่พอ วิทยากรได้อธิบายถึงคำว่า “ศาสตร์ด้านการศึกษา” ว่า เป็นการค้นคว้าองค์ความรู้ที่จะอธิบายเรื่องการศึกษาในมิติต่างๆเพื่อตอบคำถามในแง่มุมที่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ศึกษาศาสตร์ด้านนี้มีความเข้าใจที่ลุ่มลึก เพียงพอที่จะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ และสามารถนำไปเป็นหลักการที่สำคัญในการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับหลักการต่างๆซึ่งกำหนดไว้ในศาสตร์ด้านการศึกษา คำถามต่อมาคือ การศึกษาหมายถึงอะไร ข้าพเจ้าคิดง่ายๆและตอบกับตัวเองว่า การศึกษา คือ การเรียนรู้ แต่เมื่อวิทยากรอธิบายของคำว่าการศึกษาให้ฟัง ท่านได้อ้างคำพูดของ  ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ได้กล่าวถึงความหมายของการศึกษาว่า การศึกษา คือความเจริญงอกงาม (Education is Growth) การศึกษาเปรียบเสมือน ปรัชญา หรือ ความเชื่อของบุคคลที่มีต่อการศึกษา โดยครอบคลุมทั้งหมด 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา ในปัจจุบันการศึกษายิ่งมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในสังคมทุกสังคม เพราะสังคมมีการเรียกร้องสูงขึ้นที่จะให้การศึกษาตอบสนองความต้องการของสังคมอย่างชัดเจน เช่น สังคมต้องการบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถในวิชาชีพ สามารถปฎิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ สังคมยังเรียงร้องให้การศึกษาพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์มากขึ้น เช่น มีจิตสาธารณะ มีคุณธรรมจริยธรรม สามารถทำงานเป็นทีมได้ ตลอดจนสื่อสารกับบุคคลอื่นๆได้เป็นอย่างดี เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการศึกษาจึงมีบทบาทสูงขึ้นเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบัน และยังเป็นที่ยอมรับอีกว่า การศึกษาระดับอุดมศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของชาติ ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นที่คาดหวังของสังคมทุกสังคม การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้มีคุณภาพนั้นเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบหลายด้าน อาทิ คุณภาพของผู้เรียน คุณภาพของผู้สอน โครงสร้างหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน เทคโนโลยีที่สนับสนุนการเรียนการสอนและกิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อพัฒนาผู้เรียน สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาจึงต้องมองภาพขององค์รวมของการจัดการศึกษาให้คลอบคลุม และให้ความสำคัญกับทุกๆด้าน ท่านวิทยากรยกอธิบายตอนท้ายของการบรรยายว่า ในรั้วการศึกษาต้องเป็นแหล่งความรู้ดี สังคมดี และสิ่งแวดล้อมต้องดีด้วย เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์สถาบันทางการศึกษาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริหารจัดการด้วยความเอาใจใส่ ระมัดระวัง และคอยตรวจสอบว่า การบริหารจัดการที่ดำเนินการอยู่ ได้ตอบโจทย์การผลิตบัณฑิตเพื่อให้เป็นมนูษย์ที่สมบูรณ์แล้วหรือยัง
เมื่อจบการบรรยาย ข้าพเจ้าคิดถึงการศึกษาของบ้านเรา และนึกถึงคำว่า อารยธรรม หรือ Civilization ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานประจำปี พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของ อารยธรรม ไว้ว่าความสงบสุขของสังคมที่ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งศีลธรรม และกฎหมาย; ความเจริญเนื่องด้วยองค์การของสังคม เช่น การเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรม ความเจริญด้วยขนบธรรมเนียมอันดี ข้าพเจ้าสรุปได้ว่า บ้านเมืองจะดีได้ ต้องเริ่มจากการศึกษาเป็นสำคัญ
                                                                        ด้วยความเคารพยิ่ง
                                                นางณัฐฐิรา ปุยะกุล ซวิค รหัสนักศึกษา 57254907
                                    นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน

No comments:

Post a Comment